Back to Schedule
Donate

    กรรม ผลการกระทำในอดีต ตั้งแต่ภพชาติก่อนๆ และชาตินี้ จากศัพท์สันสกฤต กริ กระทำ คัมภีร์ฮินดูสอนว่า กฎแห่งกรรมเที่ยงธรรมเสมอ กิริยากับปฏิกิริยา เหตุกับผล การหว่านกับการเก็บเกี่ยว ในครรลองแห่งธรรมนั้น ความคิดและการกระทำของมนุษย์เป็นเบ้าหลอมชะตากรรมของเขา พลังงานที่เขาใช้ไป ไม่ว่าด้วยปัญญาหรือไร้ปัญญาจะเวียนกลับมาหาเขาอย่างไม่ผ่อนปรน การเข้าใจถึงความเที่ยงธรรมของกฎแห่งกรรมทำให้จิตมนุษย์หลุดพ้นจากการขึ้งเคียดพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน กรรมของบุคคลติดตามเขาไปชาติแล้วชาติเล่าจนกว่าจะสิ้นกรรม วิญญาณหลุดพ้นเป็นอิสระ ดู การเกิดใหม่

    กรรมของมนุษย์ที่สั่งสมทั้งในชุมชน ในชาติ หรือในโลก เป็นกรรมรวมที่จะส่งผลอย่างกว้างไกลไพศาลตามระดับหรือน้ำหนักของความดีความชั่ว ด้วยเหตุนี้ ความคิดและการกระทำ ของมนุษย์ทุกคน ย่อมส่งผลต่อความดีหรือความเลวในโลกและชาวโลก

    กรรมโยคะ วิถีการรวมกับพระเจ้าด้วยการกระทำ และการรับใช้อย่างไม่ยึดมั่นถือมั่น การรับใช้ อย่างไม่คำนึงถึงตน ถวายผลการกระทำแด่พระเจ้า และเห็นว่าพระเจ้าเท่านั้นเป็นผู้กระทำ เมื่อปฏิบัติเช่นนี้ ผู้ภักดีจะพ้นจากอหังการ และมีประสบการณ์กับพระเจ้า ดู โยคะ

    กุฏัสถะ ไจตันยะ จิตพระคริสต์ หรือ คริสตจิต คำสันสกฤต กุฏัสถะ แปลว่า “สิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลง” ไจตันยะ หมายถึง จิต

    กุณฑาลินี กระแสพลังสร้างสรรค์ชีวิตที่ขดทวาร ณ ฐานของไขสันหลัง ในจิตที่ตื่นอยู่เป็นปกติ พลังชีพไหลจากสมองลงไปตามไขสันหลัง ผ่านขดกุณฑาลินี ทำให้ร่างกายมีชีวิตชีวา ผูกกายทิพย์ กายเหตุ และวิญญาณในตนไว้กับกายหยาบที่มีความตายเป็นเบื้องหน้า แต่ในภาวะจิตที่สูงๆ ขึ้นไป ซึ่งเป็นเป้าหมายของการทำสมาธิ พลังกุณฑาลินีจะถูกผันกลับขึ้นไปตามไขสันหลัง เพื่อปลุกศูนย์แห่งวิญญาณที่หลับอยู่ในจักระสมองร่วมไขสันหลังบางครั้งเรียกพลังนี้ว่า “พลังงู” ตามลักษณะที่เป็นขด

    กริยาโยคะ ศาสตร์ศักดิ์สิทธิ์ทางมิติวิญญาณ เกิดในอินเดียเมื่อหลายพันปีมาแล้ว ศาสตร์นี้ได้รวมวิธีทำสมาธิที่นำผู้ปฏิบัติสู่การหยั่งรู้พระเจ้า ซึ่งผู้ปฏิบัติด้วยศรัทธาภักดี จะมีประสบการณ์ตรงกับพระเจ้า ท่านปรมหังหา โยคานันทะอธิบายว่ารากศัพท์ของคำสันสกฤต กริยา คือ กริ ที่แปลว่า “ทำ กระทำ หรือตอบสนอง” รากศัพท์เดียวกันนี้พบได้ในคำว่า กรรม ซึ่งเป็นหลักของกฎเหตุผลตามธรรมชาติ ดังนั้นกริยาโยคะจึงเป็น “การหลอมรวม (โยคะ) กับอนันตภาพ ผ่านทางการกระทำหรือพิธีการ (กริยา) บางประการ” กริยา เป็นรูปแบบหนึ่งของ ราชโยคะ (“ราช” หรือ “สมบูรณ์”) ภควานกฤษณะได้สดุดีโยคะไว้ใน ภควัทคีตา และปตัญชลีได้กล่าวสรรเสริญไว้ในโยคสูตร กริยาโยคะ ได้ถูกฟื้นคืนให้กลับมาในยุคนี้โดยมหาวตารบาบาจี (ดู มหาวตารบาบาจี)และได้ประสิทธิ์ประสาท (ทีกฺษา) กริยาโยคะแก่เหล่าคุรุของเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ นับตั้งแต่ที่ท่านปรมหังสา โยคานันทะ ได้เข้ามหาสมาธิ (ดู มหาสมาธิ) การประทาน ทีกฺษา จะกระทำโดยบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนของท่าน คือประธานของเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ/สมาคมโยโคทะสัตสังคะ แห่งอินเดีย (หรือโดยผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งโดยท่านประธาน) การจะมีคุณสมบัติรับ ทีกฺษา ได้นั้น สมาชิกของเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ จะต้องสำเร็จในคุณสมบัติเบื้องต้นเสียก่อน ผู้ที่ได้รับ ทีกฺษา ได้ชื่อว่าเป็น กริยาโยคี หรือ กริยาพัน ดูเพิ่มเติมที่ คุรุ และ ศิษย์

    กฤษณะ ดู ภควานกฤษณะ

    กฤษณะจิต คริสตจิต (จิตพระคริสต์) กุฏัสถะ ไจตันยะ ดู คริสตจิต (จิตพระคริสต์)

    กายทิพย์ กายละเอียด หรือ กายแสงของมนุษย์ ปราณ หรือ ประจุพลังชีวิต กาบชั้นที่สองในบรรดากาบหุ้มวิญญาณสามชั้น: กายเหตุ กายทิพย์ และกายหยาบ พลังกายทิพย์ให้ชีวิตชีวาแก่กายหยาบ เช่นเดียวกับที่กระแสไฟฟ้าทำให้หลอดไฟสว่าง กายทิพย์ประกอบด้วยธาตุทั้งสิบเก้า คือ ปัญญา อหังการ อารมณ์ จิต ญาเณนทรีย์ (องค์แห่งการรู้ทั้งห้า—พลังแห่งประสาทสัมผัสซึ่งอยู่ในอวัยวะแห่งการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การรับรู้รส และการสัมผัส) กรรเมนทรีย์ (องค์แห่งการกระทำทั้งห้า—พลังในการควบคุม ใช้งานอวัยวะในร่างกาย ได้แก่ การสืบพันธุ์ การขับถ่าย การพูด การเคลื่อนไหว และการทำงานด้วยมือ) และพลังชีพทั้งห้าที่ทำหน้าที่ในการหมุนเวียน สันดาป ดูดกลืน ทำให้แข็งตัว (ตกผลึก) และการกำจัด

    กายเหตุ แท้จริงแล้วมนุษย์ในฐานะวิญญาณคือกายเหตุ กายเหตุหมายถึงความคิดที่ทำให้เกิดกายทิพย์และกายหยาบ กายเหตุประกอบด้วยธาตุคิดสามสิบห้า เชื่อมโยงกับธาตุกายทิพย์สิบเก้า รวมกับธาตุกายหยาบสิบหก

    การเกิดใหม่ กฎการวิวัฒน์บังคับให้มนุษย์ทุกคนต้องเวียนว่ายตายเกิดเพื่อพัฒนาตนให้สูงขึ้น —จนกว่าจะหยั่งรู้ตนและรวมกับพระเจ้าในที่สุด (การวิวัฒน์ที่อาจเชื่องช้าเพราะตัณหาและการ

    กระทำที่ผิดๆ และจะก้าวหน้าไปได้เร็วด้วยความเพียรทางมิติวิญญาณ) เมื่อข้ามพ้นข้อจำกัดและความไม่สมบูรณ์ของจิตมนุษย์เสียได้ วิญญาณจะเป็นอิสระ ไม่ต้องเวียนกลับมาเกิดใหม่ “คนที่ชนะ เราจะตั้งให้เขาเป็นเสาหลักอยู่ในพระวิหารของพระเจ้าของเรา และเขาจะไม่ออกไปจากพระวิหารอีกเลย” (วิวรณ์ 3:12)

    แนวคิดการเกิดใหม่ไม่ได้มีเฉพาะแต่ในปรัชญาโลกตะวันออก แต่อารยธรรมโบราณหลายแหล่งถือเป็นสัจจะชีวิตเบื้องต้น ศาสนาคริสต์ยุคแรกๆ ยอมรับหลักการการเกิดใหม่ ซึ่งชาวคริสต์รหัสยนัย (Gnostics) และคุณพ่อหลายท่าน รวมทั้ง คลีเมนต์แห่งอเล็กซานเดรีย ออริเก็นและนักบุญเจอร์โรมได้อธิบายไว้ จนเมื่อมีการประชุมสภาแห่งคอนสแตนติโนเปิลครั้งที่สองเมื่อ ค.ศ. 553 จึงได้ถอดหลักการนี้ออกจากคำสอน แต่ปัจจุบันนี้ นักคิดชาวตะวันตกหลายท่านเริ่มรับแนวคิดเกี่ยวกับกฎแห่งกรรม และการเกิดใหม่ ซึ่งได้คลี่คลายอธิบายถึงความไม่เท่าเทียมของชีวิตในชาตินี้ได้อย่างกว้างไกลน่าเชื่อถือ

    การปฏิบัติสมาธิ โดยทั่วไปหมายถึง การจดจ่อจิตเพื่อการเข้าถึงพระเจ้า หรือจิตที่เป็นสมาธิอย่างแท้จริง คือการหยั่งรู้พระเจ้าด้วยปัญญาญาณ ซึ่งจะสำเร็จได้เมื่อผู้แสวงความหลุดพ้นมีจิตจดจ่อที่ตั้งมั่น ตัดความสนใจจากความรู้สึกทั้งหลาย ไม่หวั่นไหวไปกับประสาทสัมผัสจากโลกภายนอก ธยาน เป็นขั้นที่เจ็ดในวิถีโยคะมีองค์แปดของปตัญชลี ขั้นที่แปดคือ สมาธิ หรือการรวมเป็นหนึ่งกับพระเจ้า (ดู ปตัญชลี) ซึ่งจะเข้าถึงได้เมื่อจิตของบุคคลตั้งมั่นไม่หวั่นไหวไปกับประสาทสัมผัสที่เข้าไปกระทบ ในสมาธิลึกสุด บุคคลจะเข้าถึงขั้นที่แปดในวิถีโยคะ คือ สมาธิการรวม การเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า (ดู โยค)

    ก้านสมองส่วนท้าย (เมดัลลา ออบลองกาตา) ฐานโครงสร้างของสมอง หรือก้านสมองส่วนท้าย (เหนือไขสันหลัง) เป็นทวารสำคัญให้พลังชีวิต (ปราณ) เข้ามาสู่ร่างกาย เป็นที่ตั้งของจักระสมองร่วมไขสันหลังจักระที่หก ซึ่งมีหน้าที่รับและส่งกระแสพลังจักรวาลในกาย พลังชีวิตจากแหล่งเก็บพลังชีวิต ณ ศูนย์ที่เจ็ด (สหัสราระ) ในสมองส่วนบนสุดจะถูกกระจายไปทั่วร่างกาย โดยจักระเมดัลลาอันประณีตซับซ้อน ซึ่งเป็นศูนย์ควบคุมการเข้า การเก็บ และการกระจายพลังชีวิต

    ค-ต

    คริสต์ พระนามเพื่อใช้เฉลิมพระเกียรติพระเยซู: พระเยซูคริสต์ คำนี้ยังหมายถึง จักรวาลปัญญาแห่งพระเจ้าในสิ่งสร้างทั้งปวง (บางครั้งเรียกว่าพระคริสตจักรวาล หรือพระคริสต์อันไพศาล) หรืออาจใช้เรียกบรมครูผู้รวมเป็นหนึ่งเดียวกับทิพยจิตแห่งพระเจ้า (ภาษากรีกใช้คำ Christos หมายถึง “ได้รับการเจิม” เช่นเดียวกับคำ Messiah—พระผู้ไถ่ ในภาษาฮีบรู) ดูเพิ่มเติมที่ คริสตจิต และ กุฏัสถะ ไจตันยะ

    คริสตจักระ กุฏัสถะ หรือ อาชญาจักระ คือจุดตรงกลางระหว่างคิ้วทั้งสองข้าง ซึ่งเชื่อมต่อกับก้านสมองส่วนท้ายทั้งสองฟาก เป็นศูนย์เจตจำนงและสมาธิ และ คริสตจิต ฐานของตาธรรม

    คริสตจิต (จิตพระคริสต์) ทิพยจิตแห่งพระเจ้าในสิ่งสร้างทั้งปวง หรือ “พระบุตรพระองค์เดียว”ในพระคริสตธรรมคัมภีร์ซึ่งหมายถึงพระฉายาหรือภาพสะท้อนอันบริสุทธิ์ของพระบิดาเจ้าในสิ่งสร้าง ส่วนคัมภีร์ฮินดูหมายถึง กุฏัสถะ ไจตันยะ หรือ ตัต จิตสากล (แห่งบรมวิญญาณ) หรือปัญญาจักรวาลในสิ่งสร้างทั้งปวง (คำว่า “คริสตจิต” หรือ “คริสตปัญญา” คือสิ่งเดียวกัน ซึ่งรวมถึง “คริสตจักรวาล” และ “พระคริสต์อันไพศาล”) ซึ่งเป็นจิตจักรวาล รวมเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า ดังที่สำแดงในพระเยซู ภควานกฤษณะ และองค์อวตารท่านอื่นๆ มหามุนี มหาโยคีและนักบุญรู้สิ่งนี้ในความนิ่งแห่งสมาธิ เมื่อจิตของท่านเป็นหนึ่งเดียวกับทิพยปัญญาในทุกอณูของสิ่งสร้าง ท่านรู้ว่าจักรวาลทั้งสิ้นคือกายของท่านเอง ดูเพิ่มเติมที่ ตรีเอกานุภาพ

    ความชั่ว อำนาจของมารที่ขัดขวางพระเจ้าผู้ทรงสถิตทุกหนแห่งในสิ่งสร้าง ปรากฏในความไม่ประสานสอดคล้องในตัวมนุษย์และในธรรมชาติ หรือถ้าอธิบายอย่างกว้างๆ ก็หมายถึงทุกสิ่งที่ตรงข้ามกับกฎแห่งพระเจ้า (ดู ธรรม) ซึ่งเป็นเหตุให้มนุษย์สูญเสียสำนึกความเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้าที่ขัดขวางไม่ให้เขาเข้าถึงการหยั่งรู้พระเจ้า

    คุณ ลักษณะธรรมชาติสามประการ ตมัส รชัส และ สัตตวะ—ที่แปลว่า ขัดขวาง, กระทำ และ ขยายใหญ่ หรือ มวล พลัง และปัญญา ในตัวมนุษย์ คุณทั้งสามจะแสดงออกในรูปของ ความเขลาหรือเฉื่อยชา: กิจกรรมหรือความดิ้นรน: และปัญญา

    คุรุ ครูทางมิติธรรม คำ คุรุ มักถูกใช้อย่างผิดๆ ว่าหมายถึงผู้สอน หรือ ผู้บรรยาย แต่คุรุผู้หยั่งรู้พระเจ้าคือผู้มีตบะควบคุมตน รู้ว่าตนเป็นหนึ่งเดียวกับบรมวิญญาณอันสถิตทั่ว บุคคลเช่นนี้มีคุณสมบัติที่จะนำจิตผู้แสวงความหลุดพ้นจาริกไปสู่การหยั่งรู้พระเจ้า

    เมื่อผู้ปฏิบัติธรรมพร้อมที่จะแสวงหาพระเจ้าอย่างมุ่งมั่น พระเจ้าจะส่งคุรุมาให้เขา พระเจ้าจะนำทางศิษย์นั้นไปด้วยปัญญา ปัญญาญาณ การหยั่งรู้อาตมันและการสอน เมื่อศิษย์ทำตามคำสอนและหลักปฏิบัติของคุรุเช่นนี้ เขาย่อมได้ลิ้มรสความหอมหวานในการหยั่งเห็นพระเจ้าอย่างสมปรารถนา คุรุแท้ผู้ได้รับโองการจากพระเจ้าให้มาช่วยผู้ปฏิบัติที่จริงใจให้ได้สมความปรารถนานั้นมิใช่ครูทั่วๆ ไป พระเจ้าทรงใช้ร่างกาย วาจา จิต และวิญญาณของท่านเป็นช่องทางดึงดูดและนำทางวิญญาณที่หลงทางกลับบ้านสู่ความเป็นอมตะ คุรุจึงเป็นสัจคัมภีร์ที่มีชีวิต เป็นผู้ที่พระเจ้าส่งมาเพื่อยกวิญญาณของศิษย์ตามที่เขาร้องขอ ให้ปลดปล่อยตนพ้นจากการเป็นทาสของวัตถุ

    ท่านสวามีศรียุกเตศวร เขียนไว้ใน The Holy Science ว่า “การอยู่กับคุรุ ใช่แค่การอยู่ใกล้กันทางกาย (เพราะบางครั้งสิ่งนี้เป็นไปไม่ได้) แต่โดยหลักๆ แล้ว คือการมีคุรุอยู่ในใจตลอดเวลา ถือหลักการเดียวกับท่าน ปรับตัวเราเข้ากับท่าน” ดู อาจารย์

    คุรุของ Self-Realization Fellowship คุรุของ เซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ/โยโคทะสัตสังคะ แห่งอินเดีย คือ พระเยซูคริสต์ ภควานกฤษณะ และครูบาอาจารย์ผู้สืบสายมาจนถึงยุคปัจจุบัน ได้แก่ มหาวตารบาบาจี, ลาหิริ มหัสยะ, สวามีศรียุกเตศวร และปรมหังสา โยคานันทะภารกิจสำคัญของ เอสอาร์เอฟ คือการแสดงให้เห็นความผสานสอดคล้องและแก่นสารที่เหมือนกันระหว่างคำสอนของพระเยซูคริสต์ กับหลักโยคะของภควานกฤษณะ บรมครูเหล่านี้ได้ทำให้พันธกิจ ของเอสอาร์เอฟสำเร็จผล ด้วยคำสอนอันเป็นไปทั่วโลกของท่าน รวมทั้งเครื่องมือสื่อถึงพระเจ้า คือศาสตร์การปฏิบัติเพื่อการหยั่งรู้พระเจ้าที่ท่านได้มอบให้แก่มวลมนุษยชาติ

    คุรุเทพ “ครูผู้ประเสริฐศักดิ์สิทธิ์” คำสันสกฤตใช้เรียกครูผู้สอนธรรมมิติแห่งวิญญาณด้วยความเคารพ

    ตัตตวะ ดู ธาตุ

    จักระ จักระในโยคะหมายถึง ศูนย์จิตและชีวิตทั้งเจ็ดในไขสันหลังและสมอง ที่ให้ชีวิตแก่กายหยาบและกายทิพย์ของมนุษย์ ศูนย์เหล่านี้เรียกว่า จักระ (“วงล้อ”) เพราะพลังที่รวมกันอยู่ในแต่ละจักระนั้นปล่อยแสงชีวิตและพลังออกไปรอบๆ จักระทั้งเจ็ดเรียงจากล่างขึ้นบน ได้แก่ มูลธาระ(จักระก้นกบตรงฐานของไขสันหลัง), สวธิษฐาน (จักระกระเบนเหน็บ อยู่เหนือ มูลธาระ ขึ้นมาสองนิ้ว), มณีปุระ (จักระบั้นเอว ตรงกับสะดือ), อนาหตะ (จักระลำตัว ตรงข้ามกับหัวใจ),วิสุทธะ (จักระคอ ที่ฐานของคอ), อาชญา (เดิมเชื่อกันว่าอยู่ที่จุดตรงกลางระหว่างคิ้วทั้งสองข้าง แต่จริงๆ แล้วเชื่อมอยู่ระหว่างตาธรรมกับท้ายสมอง ดูเพิ่มเติมที่ เมดัลลา กับ ตาธรรม)และ สหัสราระ (ในสมองใหญ่ส่วนบนสุด)

    จักระทั้งเจ็ดนี้เป็น “ประตูทางออก” ที่วิญญาณผ่านเข้าสู่กาย และกลับสู่จิตจักรวาลในกระบวน การปฏิบัติสมาธิ ตามกระบวนการเจ็ดขั้นตอนที่วิญญาณจะกลับสู่จิตจักรวาล วิญญาณเคลื่อนขึ้นไปบนทางหลวงนี้ผ่านประตูทั้งเจ็ดในจักระสมองร่วมไขสันหลังที่เปิดอยู่หรือ “ตื่นอยู่” ขึ้นสู่อนันตภาววะ นี่คือหนทางแท้จริงที่วิญญาณต้องถอยกลับไปรวมกับพระเจ้า

    คัมภีร์โยคะส่วนใหญ่เรียกศูนย์ชีวิตล่างๆ ลงมาทั้งหกว่าจักระ เรียกศูนย์ที่เจ็ดแยกไปว่า สหัสราระ อย่างไรก็ตามมักอธิบายศูนย์ทั้งเจ็ดนี้ว่าเป็นประดุจดอกบัวบานกลีบเปิดสู่ด้านบนเมื่อวิญญาณตื่น จิตกับชีวิตเคลื่อนขึ้นไปตามไขสันหลัง

    จิตจักรวาล จิตเลิศประเสริฐแห่งบรมวิญญาณ หรือ พระบิดาเจ้า ผู้ทรงดำรงอยู่เหนือสิ่งทั้งปวงและหมายถึง ภาวะเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้าในสมาธิ ทั้งในสิ่งสร้างอันสั่นสะเทือนและพ้นแล้วจากการสั่นสะเทือน ดู ตรีเอกานุภาพ

    จิตตะ จิตหรือองค์แห่งจิต ซึ่งรวมไว้ทั้ง อหังการ (ความสำคัญตน) พุทธิ (ปัญญา) และ มนัส(ใจ หรืออารมณ์)

    จี คำต่อท้ายนาม หรือ ตำแหน่ง เพื่อแสดงความเคารพตามขนบอินเดีย เช่น คานธีจี ปรมหังสาจี คุรุจี เป็นต้น

    ชญาณโยคะ เป็นวิถีที่จะนำไปสู่การหลอมรวมกับพระเจ้า ด้วยการเปลี่ยนพลังแห่งสติปัญญาที่ชอบวิเคราะห์ แยกแยะ ไปเป็นปัญญาญาณแห่งวิญญาณที่ไพศาลอยู่ทุกหนแห่ง

    ซาตาน แปลตรงตัวในภาษาฮีบรูว่า “ปฏิปักษ์” ซาตานคือพลังจิตอิสระของจักรวาล ที่ทำให้ทุกชีวิตและทุกสิ่งหลงไปกับจิตที่จำกัดและแบ่งแยกจากพระเจ้า เพื่อทำให้การนี้สำเร็จ ซาตานใช้มายา (มายาจักรวาล) และ อวิชชา (ความโง่หลง โมหะของบุคคล) เป็นอาวุธ ดู มายา

    เซลฟ์ รีอะไลเซชั่น (Self-Realization) ท่านปรมหังสา โยคานันทะ ได้ให้คำนิยาม Self-Realization ไว้ว่า “การรู้กาย จิต และวิญญาณ รู้ว่าเราเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้าผู้ทรงสถิตทั่ว เราไม่เป็นต้องสวดอ้อนวอนถึงความเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์ เพราะพระเจ้าไม่แค่อยู่ใกล้เราตลอดเวลาเท่านั้น แต่การสถิตทั่วทุกหนแห่งของพระเจ้าคือการสถิตทั่วทุกหนแห่งของเราเช่นกัน ให้รู้ว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของพระองค์ทั้งขณะนี้และตลอดไป สิ่งที่เราต้องทำคือปรับปรุงการรู้ของเรา”

    เซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เป็นการเรียกชื่อแบบย่อ ซึ่งหมายถึง เซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ (เอสอาร์เอฟ) สมาคมก่อตั้งโดยท่านปรมหังสา โยคานันทะ ท่านมักจะเอ่ยถึงในการสนทนาแบบไม่เป็นทางการว่า “คำสอนเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น” “สำนักงานใหญ่ เซลฟ์ รีอะไลเซชั่น ในลอสแอนเจลีส” เป็นต้น

    เซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ (Self-Realization Fellowship-SRF) สมาคมศาสนานานาชาติ ก่อตั้งโดย ปรมหังสา โยคานันทะ ในสหรัฐอเมริกาเมื่อ ค.ศ. 1920 (และโยโคทะสัตสังคะ แห่งอินเดียเมื่อ ค.ศ. 1917) เพื่อเผยแผ่หลักธรรมแห่งมิติวิญญาณและวิธีปฏิบัติกริยาโยคสมาธิทั่วโลก (ดู กริยาโยคะ) สำนักงานใหญ่นานาชาติ หรือศูนย์แม่ ตั้งอยู่ในเมืองลอสแอนเจลีส รัฐแคลิฟอร์เนีย ท่านปรมหังสา โยคานันทะ ได้อธิบายความหมายของนาม Self-Realization Fellowship ว่าคือ “การเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้าด้วยการตระหนักรู้ในตนและเป็นมิตรกับวิญญาณผู้แสวงหาสัจธรรม”

    ตัตตวะ ดู ธาตุ

    ตรีเอกานุภาพ บรมวิญญาณสำแดงในสิ่งสร้าง ในลักษณะตรีเอกานุภาพ นั่นคือ พระบิดา พระบุตรและพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ (พระจิต) หรือ สัต ตัต โอม พระบิดา (สัต) ในฐานะพระองค์ผู้ทรงสร้าง ทรงอยู่เหนือสิ่งสร้างทั้งปวง (จิตจักรวาล) พระบุตร (ตัต) คือทิพยปัญญาอันสถิตทั่วในสิ่งสร้าง (คริสตจิต หรือ กุฏัสถะ ไจตันยะ) พระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ (โอม) คือพระฤทธานุภาพอันสั่นสะเทือนเป็นสิ่งต่างๆ ในสิ่งสร้าง

    วัฏฏะของการสร้างและสลายจักรวาลมาแล้วก็ผ่านไปในนิรันดร์กาล (ดู ยุค) ในยุคแห่งการสลายนั้น ตรีเอกานุภาพกับสัมพัทธภาวะแห่งสิ่งสร้างสลายกลับไปรวมกับบรมวิญญาณอันสูงสุด

    ตาธรรม หรือตาที่สาม เอกจักษุแห่งการเห็นแจ้ง ณ ศูนย์พระคริสต์ (กุฏัสถะ - อาชญาจักระ)ระหว่างคิ้วทั้งสองข้าง ผู้แสวงความหลุดพ้นที่เข้าถึงสมาธิลึกจะเห็นตาธรรมเป็นวงแสงสีทองล้อมรอบพื้นที่สีน้ำเงินใส ซึ่งมีดาวห้าแฉกสีขาวอยู่ตรงกลาง รูปและสีเหล่านี้คือภาพจำลองของอาณาอันสั่นสะเทือนของสิ่งสร้าง (จักรวาลธรรมชาติ พระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์) พระบุตรหรือพระปัญญาแห่งพระเจ้าในสิ่งสร้าง (คริสตจิต) และบรมวิญญาณอันพ้นแล้วจากสิ่งสร้างและการสั่นสะเทือน (พระบิดาเจ้า) ตามลำดับ

    ตาธรรมเป็นประตูสู่ทิพยจิตอันประเสริฐสูงสุด เมื่อผู้ปฏิบัติธรรมอยู่ในสมาธิลึก จิตทะลวงผ่านตาธรรม เข้าสู่อาณาทั้งสามที่กล่าวมา เขาเข้าถึงภาวะต่างๆ ตามลำดับ ดังนี้ อภิจิตหรือความปีติใหม่เสมอแห่งการหยั่งรู้วิญญาณ, เป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้าในภาวะ โอม หรือพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์; ภาวะคริสตจิต เป็นหนึ่งเดียวกับปัญญาจักรวาลในสิ่งสร้างทั้งหลาย; และภาวะจิตจักรวาล เป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้าผู้สถิตทุกหนแห่ง ทั้งในการสำแดงอันสั่นสะเทือนและพ้นแล้วจากการสั่นสะเทือน อ่านเพิ่มเติมใน จิต ภาวะอภิจิต และ คริสตจิต

    ท่านปรมหังสา โยคานันทะ ได้เขียนอธิบายข้อความในพระธรรมเอเสเคียล (43:1-2) ไว้ดังนี้ “ด้วยตาธรรมที่กลางหน้าผาก (‘ตะวันออก’) จิตโยคีแล่นสู่ทุกหนทุกแห่ง ได้ยินพระวจนะหรือ โอม เสียงศักดิ์สิทธิ์ของ ‘น้ำมากมาย’; แสงอันสั่นสะเทือน สัจธรรมแท้จริงสิ่งเดียวในสิ่งสร้าง)” ดังที่พระธรรมเอเสเคียลบันทึกว่า “แล้วท่านนำข้าพเจ้ามายังประตู คือประตูที่หันหน้าไปทิศตะวันออก และดูสิ พระสิริของพระเจ้าแห่งอิสราเอลมาจากทิศตะวันออก และพระสุรเสียงของพระองค์ก็เหมือนเสียงน้ำไหลแรง และแผ่นดินก็สว่างด้วยพระสิริของพระองค์”

    พระเยซูตรัสถึงตาธรรมไว้เช่นกันว่า “เมื่อดวงตาของท่านรวมเป็นหนึ่ง ทั้งตัวของท่านก็พลอยสว่างไปด้วย...ระวังให้ดี อย่าให้ความสว่างที่อยู่ในตัวท่านกลายเป็นความมืด” (ลูกา11:34-35)

    ท-บ

    ทรรศน “ได้เห็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์” เช่นการได้กราบคารวะท่านคุรุ ได้รับพรจากการได้แห็นผู้ที่หยั่งรู้พระเจ้า

    ทีกฺษา การรับศิษย์ทางมิติธรรม จากรากศัพท์สันสกฤต ทีกฺษา การปวารณาตน การอุทิศตน ดูเพิ่มเติมที่ ศิษย์ และ กริยาโยคะ ผู้แสวงธรรมที่มาสู่คุรุเพื่อให้ท่านช่วยนำไปสู่พระเจ้า จนในที่สุดได้สร้างสายสัมพันธ์นิรันดร์แห่งธรรมกับท่านคุรุ ความสัมพันธ์ระหว่างคุรุและศิษย์ในสายธรรมแห่งเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพนั้นปังเกิดขึ้นโดย ทีกฺษา จากการประสิทธิ์ประสาทกริยาโยคะ ดูเพิ่มเติมที่ คุรุ และ กริยาโยคะ

    ธยาน ดู การปฏิบัติสมาธิ

    ธรรม กฎความถูกต้องนิรันดร์อันธำรงสิ่งสร้างทั้งหมดไว้ มนุษย์มีหน้าที่ต้องดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับกฎนี้ ดูเพิ่มเติมที่ สนาตนธรรม

    ธาตุ (ทั้งห้า) พลังสั่นสะเทือนแห่งจักรวาล หรือ โอม ซึ่งเป็นโครงสร้างของสิ่งสร้างทางกายภาพทั้งปวง รวมทั้งร่างกายมนุษย์ ซึ่งเกิดจากการสำแดงของธาตุทั้งห้า ดิน น้ำ ไฟ ลม และอากาศธาตุ โครงสร้างตามธรรมชาติของธาตุทั้งห้านี้ประกอบด้วย อำนาจ ปัญญา และพลังสั่นสะเทือน ถ้าขาดธาตุดิน ของแข็งก็ไม่อาจมีได้ ถ้าขาดธาตุน้ำ ภาวะของเหลวก็ไม่อาจมี ถ้าขาดธาตุลม ภาวะการลอยตัวก็เป็นไปไม่ได้ ถ้าขาดธาตุไฟ ย่อมไม่มีความร้อน ถ้าขาดธาตุอากาศ จะไม่มีฉากให้ภาพยนตร์จักรวาลได้แสดง ปราณ (พลังสั่นสะเทือนแห่งจักรวาล) เข้าสู่ร่างกายมนุษย์ทางก้านสมองส่วนท้าย แล้วแยกเป็นกระแสธาตุทั้งห้าตามการทำงานของจักระล่างๆ ทั้งห้าจักระ ได้แก่ จักระก้นกบ (ดิน) จักระกระเบนเหน็บ (น้ำ) จักระบั้นเอว (ไฟ) จักระลำตัว (ลม) และจักระคอ (อากาศธาตุ) ภาษาสันสกฤตเรียกธาตุเหล่านี้ว่า ปฐวี อป เดช ปราณ และ อากาศ

    นักบวชแห่งเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ/โยโคทะสัตสังคะ ในสายสันยาสีแห่งนิกายศังกราจารย์ สำหรับผู้ที่รู้สึกได้รับเลือกให้เลิกละชีวิตทางโลก มุ่งแสวงหาและรับใช้พระเจ้าด้วยอุดมคติแห่งโยคสมาธิและการทำหน้าที่การงาน นักบวชชายหญิงแห่งสำนักเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ รับใช้การงานของท่านปรมหังสา โยคานันทะ ที่กระจายทั่วโลกในหลายๆ ด้าน รวมทั้งการดำเนินงานของอารามเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ ในที่ต่างๆ ดูแลการเข้าเงียบ การจัดชั้นเรียน ตลอดจนหน้าที่ทางมิติธรรมและการบริหารทั่วไป โดยให้คำปรึกษาแนะนำนักเรียนของเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพเป็นรายบุคคลเกี่ยวกับการฝึกปฏิบัติตามคำสอนและวิธีการของท่านปรมหังสา โยคานันทะ และดำเนินกิจกรรมการกุศลของสมาคมในลักษณะต่างๆ กันไป นักบวชเหล่านี้มีหลากหลายประสบการณ์และมีอายุที่ต่างๆ กัน มาจากทุกมุมโลก

    บทเรียน ดู บทเรียนเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ

    บทเรียนเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ ชุดคำสอนของท่านปรมหังสา โยคานันทะ สำหรับนักเรียนทั่วโลก ที่ผู้แสวงหาสัจธรรมทุกคนสามารถศึกษาได้ บทเรียนเหล่านี้ได้รวบรวมวิธีปฏิบัติโยคสมาธิตามที่ท่านปรมหังสาได้สอนไว้ รวมทั้ง กริยาโยคะ (ดู กริยาโยคะ)

    บรมคุรุ แปลตรงตัวว่า “คุรุท่านก่อนๆ” หรือ คุรุของคุรุ ผู้ที่เป็นสมาชิกของเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น (คือเป็นศิษย์ของท่านปรมหังสา โยคานันทะ) คำว่า บรมคุรุ หมายถึง ท่านศรียุคเตศวร ท่านลาหิริ มหัสยะ มหาวตารบาบาจี คือ บรม-บรมคุรุ ของท่านปรมหังสา โยคานันทะ

    บาบาจี ดู มหาวตารบาบาจี

    แบบฝึกหัดเพิ่มพลัง มนุษย์อยู่ท่ามกลางพลังจักรวาล เช่นเดียวกับปลาอยู่ในน้ำ ท่านปรมหังสาโยคานันทะได้กำหนดท่าบริหารร่างกาย สอนไว้ในบทเรียนเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ เพื่อให้มนุษย์สามารถเพิ่มพูนพลังจักรวาล หรือ ปราณจักรวาล ในร่างกายของตน

    ป-พ

    ปตัญชลี ปราชญ์ผู้เรืองนามด้านการอธิบายโยคะในอินเดียยุคโบราณ คัมภีร์ โยคสูตร ของท่านได้วางแนวทางการปฏิบัติในวิถีแห่งโยคะไว้แปดขั้นตอน 1) การประพฤติศีลธรรม (ยมะ) 2) การปฏิบัติตามหลักศาสนา (นิยมะ) 3) ท่ากายที่ถูกต้องกับการควบคุมจิต (อาสนะ) 4) การควบคุมปราณหรือพลังชีวิต (ปราณายามะ) 5) การน้อมนำจิตสู่ภายใน (ปรัตยาหาร) 6) การสำรวมจิต (ธารณะ) 7) ฌาน (ธยาน) 8) การรวมเป็นหนึ่งกับพระเจ้า (สมาธิ)

    ปรมหังสา ตำแหน่งอาจารย์ฝ่ายมิติธรรม คุรุที่แท้จะมอบตำแหน่งนี้ให้แก่ศิษย์ผู้มีคุณสมบัติเพียบพร้อมเท่านั้น ปรมหังสา แปลตรงตัวว่า “พญาหงส์” ในคัมภีร์ฮินดูนั้น หงส์ เป็นสัญลักษณ์ของการรู้จักแยกแยะทางวิถีธรรม สวามีศรียุกเตศวร ได้มอบตำแหน่งนี้ให้แก่โยคานันทะศิษย์รักของท่านเมื่อ ค.ศ. 1935

    ประกฤติ ธรรมชาติจักรวาล; โดยทั่วไปหมายถึง พลังสั่นสะเทือนรังสรรค์อันกอปรด้วยปัญญาจากบรมวิญญาณ สำแดงตรีเอกานุภาพ (เหตุ ทิพย์ หยาบ) แห่งจักรวาลและอนุจักรวาลมนุษย์

    อธิบายอย่างละเอียดได้ว่า มหาประกฤติ คือ ปัญญาปฐมรังสรรค์อันไร้การแบ่งแยกแห่งพระเจ้า, พระแม่ธรรมชาติ หรือ พระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ ที่ส่งพลังสั่นสะเทือนจักรวาลสำแดงเป็นสิ่งสร้างทั้งปวง ปร-ประกฤติ (ธรรมชาติบริสุทธิ์) กับ อปร-ประกฤติ (ธรรมชาติไม่บริสุทธิ์) เทียบได้กับคำในศาสนาคริสต์ คือ พระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ กับ ซาตาน พลังรังสรรค์ซึ่งแสดงถึงการสั่นสะเทือนแห่งการมีอยู่ของพระเจ้าในสิ่งสร้าง กับ อำนาจมืดแห่งมายาจักรวาลที่บดบังพระเป็นเจ้าที่มีอยู่ทุกหนแห่ง

    ประจุพลังชีวิต ดู ปราณ

    ประณม เป็นการทักทายที่ใช้กันทั่วไปในอินเดีย ด้วยการยกฝ่ามือสองข้างประนมมือไว้ที่ตรงหัวใจ ก้มหัวลงให้ปลายนิ้วจรดหน้าผากตรงฐานพระคริสต์ เมื่อประนมมือไหว้บุคคลที่เป็นนักบวชหรือมีศักดิ์สูง ก็มักกล่าวไปพร้อมกันว่า “ประณม” อันที่จริงแล้วการไหว้เป็นการแสดงความเคารพอย่างย่อของ “การแสดงคารวะโดยสมบูรณ์” ที่สันสกฤตเรียกว่า ณม ที่แปลว่า “การคำนับด้วยความเคารพ หรือก้มลงกราบ” คำนำหน้า ปฺร แปลว่า “โดยสมบูรณ์”

    ปราณ ประกายปัญญาละเอียดกว่าพลังอะตอม ที่ประกอบเป็นชีวิต ซึ่งคัมภีร์ฮินดูเรียกรวมๆ กันไปว่า ปราณ ท่านปรมหังสา โยคานันทะ แปลคำนี้ว่า “ประจุพลังชีวิต” ซึ่งโดยเนื้อแท้แล้วคือ พระดำริแห่งพระเจ้า; ทิพยสาร และหลักชีวิตในจักรวาลกายภาพ ในโลกกายภาพ ปราณ มีสองประเภท 1) พลังสั่นสะเทือนแห่งจักรวาลซึ่งสถิตทั่วจักรวาล เป็นโครงสร้างของสรรพสิ่งและธำรงสรรพสิ่งไว้ 2) ปราณ พิเศษ หรือพลังที่มีอยู่ทั่วกายมนุษย์ ธำรงร่างกายไว้ด้วยกระแสปราณทั้งห้า ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการแข็งตัว การไหลเวียน (วยาน) การดูดซึม (สมณ) การสันดาป (อุทานะ) และการกำจัด (อปาน)

    ปราณายามะ การกำหนดจิตควบคุมปราณ (พลังสั่นสะเทือนแห่งการสร้างสรรค์ หรือพลังที่ให้ชีวิตและธำรงชีวิตในกาย) ปราณายามะ ในศาสตร์แห่งโยคะ เป็นวิธีตัดจิตจากกายหยาบและการทำหน้าที่ของมันซึ่งผูกพันมนุษย์ไว้กับอารมณ์ ปราณายามะ จึงทำให้จิตเป็นอิสระ รวมกับพระเจ้าได้ วิธีปฏิบัติทางวิทยาศาสตร์ทั้งหลายที่ทำให้วิญญาณรวมกับบรมวิญญาณได้จัดเป็นโยคะทั้งสิ้น ทว่า ปราณายามะ เป็นโยคะวิธีที่ทำให้รวมกับพระเจ้าได้อย่างประเสริฐยิ่ง

    พรหม-วิษณุ-ศิวะ พระภาคทั้งสามของพระเจ้าในสิ่งสร้าง เปรียบเทียบได้กับ ตรีเอกานุภาพ คือ คริสตปัญญา (ตัต) ซึ่งทำให้เกิดกิจกรรมธรรมชาติในสิ่งสร้าง การดำรงอยู่ และการสลาย ดู ตรีเอกานุภาพ

    พรหมัน (พรหม) บรมวิญญาณสูงสุด

    พระแม่ พระภาคหนึ่งของพระเจ้าในการสร้าง; ศักติ หรือ พระฤทธานุภาพแห่งพระองค์ผู้ทรงสร้าง ซึ่งอาจเรียกด้วยพระนามอื่นๆ เช่น โอม ศักติ พระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ แรงสั่นสะเทือนแห่งปัญญาจักรวาล ธรรมชาติ หรือ ประกฤติ ทั้งยังหมายถึง พระเจ้าผู้ทรงความเมตตากรุณาดุจมารดา คัมภีร์ฮินดูสอนว่า พระเจ้าทรงสถิตทั่วและทรงดำรงอยู่เหนือโลก ทรงเป็นทั้งรูปธรรมและนามธรรม เราอาจแสวงหาพระเจ้าในฐานะสัมบูรณภาพ หรือในฐานะคุณลักษณะอันเป็นนิรันดร์ที่ทรงสำแดงออกในรูปของความรัก ปัญญา ปีติสุข แสง และหรือในรูปของเทพเจ้า(อษฏ) หรือพระบิดา พระมารดา หรือบรมมิตร

    พระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ พลังสั่นสะเทือนแห่งปัญญาจักรวาลอันศักดิ์สิทธิ์จากพระเจ้าเพื่อสร้างและธำรงสิ่งสร้างทั้งหลายด้วยแก่นการสั่นสะเทือนโดยตัวมันเอง นั่นคือ ทิพยสถิต หรือ พระวจนะอันสถิตทั่วจักรวาลและในทุกรูป คือยานสะท้อนความสัมบูรณ์แห่งพระเจ้า คริสตจิต องค์พระผู้ช่วย พระแม่ธรรมชาติแห่งจักรวาล ประกฤติ ดู โอม กับ ตรีเอกานุภาพ

    พระเวท คัมภีร์ฮินดูทั้งสี่เล่ม คือ ฤคเวท สามเวท ยชุรเวท และ อาถรรพเวท เป็นคัมภีร์ที่ใช้สวดและบริกรรมในพิธีกรรมต่างๆ เพื่อฟื้นฟูพลังธรรมอย่างเป็นขั้นเป็นตอนให้แก่ชีวิตและกิจกรรมของมนุษย์ ในบรรดาคัมภีร์ของอินเดียที่มีอย่างมากมหาศาล พระเวท (จากรากศัพท์สันสกฤต วิท “รู้”) เป็นคัมภีร์ที่ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง ฤคเวทประกาศว่าตนเป็นบทสวดแห่งสวรรค์มาแต่เดิมรับสืบทอดมา “แต่โบราณ” แต่ได้ปรับเป็นภาษาใหม่ กล่าวกันว่า พระเวททั้งสี่ที่พระเจ้าทรงเปิดเผยแก่ฤษี “ศาสดาพยากรณ์” ในหลายยุคหลายสมัยนั้นเป็น นิตยตวะ คือ “เป็นที่สุดอย่างไร้กาลเวลา”

    พลังจักรวาล ดู ปราณ

    พลังชีวิต ดู ปราณ

    พลังสั่นสะเทือนอันกอปรด้วยปัญญาแห่งจักรวาล ดู โอม

    ภ-ย

    ภควัทคีตา “บทเพลงแห่งพระเจ้า” เป็นคัมภีร์โบราณของอินเดียมีทั้งหมดสิบแปดบท นำมาจากคัมภีร์มหากาพย์ มหาภารตะ (ภีษมบรรพ) เล่มที่หก เป็นบทสนทนาระหว่างภควานกฤษณะองค์อวตารกับอรชุนศิษย์ของพระองค์ก่อนที่สงครามกุรุเกษตรจะเริ่มต้น คีตาเป็นคัมภีร์โยคศาสตร์ (การรวมกับพระเจ้า) ที่ลึกซึ้ง เป็นคู่มือความสุขและความสำเร็จในชีวิตประจำวันอย่างข้ามกาลเวลา คีตาเป็นทั้งเรื่องอุปมาและประวัติศาสตร์ แสดงการต่อสู้ทางมิติธรรมระหว่างจริตนิสัยที่ดีและที่ชั่วในตัวมนุษย์ ตามเรื่องราวในคัมภีร์นี้ ภควานกฤษณะเป็นสัญลักษณ์ของคุรุ วิญญาณ หรือ พระเจ้า และอรชุนคือศิษย์ผู้แสวงหาความหลุดพ้น มหาตมา คานธี ได้เขียนถึงพระคัมภีร์เล่มนี้ว่า “ผู้ทำสมาธิกับคีตาจะได้ความปีติและความหมายใหม่ๆ จากพระคัมภีร์นี้ทุกวัน ไม่มีความยุ่งยากทางวิถีธรรมใดๆ ที่คีตาไม่สามารถสะสางได้”

    โศลกภควัทคีตาที่คัดมาไว้ใน การเสด็จครั้งที่สองของพระคริสต์ เป็นบทแปลโดยท่านปรมหังสา โยคานันทะ ภควัทคีตา: พระเจ้าสนทนากับอรชุน—ราชศาสตร์แห่งการหยั่งรู้พระเจ้า (จัดพิมพ์โดย Self-Realization Fellowship จัดจำหน่ายโดยบริษัทเคล็ดไทย จำกัด)

    ภควานกฤษณะ องค์อวตาร ทรงพระชนม์ในอินเดียยุคโบราณก่อนคริสตกาล ความหมายหนึ่งของคำว่า กฤษณะ ตามคัมภีร์ฮินดู หมายถึง “บรมวิญญาณอันทรงฤทธิ์” กฤษณะ จึงมีความหมายตรงกับคำว่า คริสต์ เป็นตำแหน่งแห่งองค์อวตารผู้มีวิญญาณไพศาล—เป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า (ดูที่ คริสตจิต) ตำแหน่ง ภควาน หมายถึง “พระเจ้า”

    ภักติโยคะ วิถีวิญญาณสู่พระเจ้าที่เน้นความรักภักดีเป็นหลัก ในการติดต่อและรวมกับพระเจ้า ดู โยคะ

    ภาวะจิต ปุถุชนย่อมประสบกับภาวะจิตสามขั้นตอน: จิตตื่น จิตหลับ และ จิตฝัน แต่เขาไม่มีประสบการณ์กับวิญญาณ หรือ อภิจิต เขาจึงไม่มีประสบการณ์กับพระเจ้า แต่ผู้รู้พระคริสต์มีประสบการณ์นี้ เช่นเดียวกับที่ปุถุชนรู้กายทั้งหลายของตน จิตของผู้รู้พระคริสต์ รู้จักรวาลทั้งปวง ท่านรู้ว่าจักรวาลเหล่านั้นคือกายของท่านที่เหนือกว่าภาวะคริสตจิตคือจิตจักรวาล จิตอันเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้าในภาวะประเสริฐสุด พ้นจากสิ่งสร้างอันสั่นสะเทือนและเป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสถิตแห่งพระเจ้าในปรากฏการณ์ทั้งปวงในโลก

    มหาวตารบาบาจี มหาวตารผู้ไร้ความตาย (“มหาวตาร”) ผู้มอบ กริยาโยคะ ให้แก่ ลาหิริ มหัสยะ เมื่อปี 1861 เป็นการฟื้นคืนวิธีปฏิบัติโบราณเพื่อการพ้นบาปให้กลับมาสู่โลก ท่านมีชีวิตเป็นหนุ่มอยู่เสมอตลอดหลายศตวรรษ ณ แถบเทือกเขาหิมาลัย ประสาทพรให้แก่โลกอย่างสม่ำเสมอ พันธกิจของท่านคือการช่วยผู้เผยแผ่พระวจนะในการทำภารกิจพิเศษของตนด้วยวิญญาณอันประเสริฐยิ่ง ท่านจึงได้รับยกย่องด้วยนามต่างๆ อย่างหลากหลาย แต่ท่านมหาวตารโปรดนาม บาบาจี อันเรียบง่าย คำนี้มาจากภาษาสันสกฤต บาบา “บิดา” กับคำต่อท้าย จี เป็นการแสดงความเคารพ อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับชีวิตและพันธกิจทางมิติวิญญาณของท่านใน อัตชีวประวัติของโยคี ดู อวตาร

    มหาสมาธิ คำสันสกฤต มหา “เลิศ ยิ่งใหญ่” สมาธิ การทำสมาธิครั้งสุดท้าย หรือการรวมกับพระเจ้าด้วยจิตที่รู้ตื่น เมื่ออาจารย์ผู้ประเสริฐละจากกายหยาบรวมกับ โอม จักรวาล ท่านรู้ล่วงหน้าถึงเวลาที่พระเจ้ากำหนดให้ท่านละจากกายที่อาศัยนี้ ดู สมาธิ

    มันตระโยคะ การรวมกับพระเจ้าด้วยการเพ่งจิตบริกรรมเสียงรากคำ ที่มีพลังสั่นสะเทือนอันส่งผลต่อวิญญาณ ดู โยคะ

    มนุษย์ จากรากศัพท์สันสฤตเดียวกันกับ มนัส จิต ศักยภาพพิเศษของมนุษย์ที่จะคิดด้วยเหตุผล โยคศาสตร์กล่าวถึงจิตของมนุษย์จากจุดยืนของตัวตน (อาตมัน) อย่างพ้นไปจากเพศสภาพ

    มายา อำนาจความลวงในโครงสร้างของสิ่งสร้างที่เอกภาวะปรากฏเป็นหลายๆ ภาวะ มายา

    เป็นเรื่องของสัมพัทธภาพ ความตรงกันข้าม ความขัดแย้ง ความเป็นสิ่งคู่ (ทวิภาวะ) และภาวะของขั้วตรงกันข้าม “ซาตาน” (ในภาษาฮีบรู แปลตามตัวว่า “ปฏิปักษ์” กับผู้เผยพระวจนะในพระคัมภีร์เก่า ส่วน “มาร” นั้น พระเยซูทรงให้ภาพของ “ฆาตกร” “คนพูดเท็จ” เพราะ “พวกเขาไม่มีสัจจะ” (ยอห์น 8:44)

    ปรมหังสา โยคานันทะ เขียนไว้ว่า “คำว่า มายา ในภาษาสันสกฤตหมายถึง ‘เครื่องวัด เครื่องตวง’ เป็นอำนาจอัศจรรย์ในสิ่งสร้าง ที่ข้อจำกัดและการแบ่งแยกมีอยู่ในสิ่งที่ไม่อาจวัดตวงและไม่อาจแบ่งแยก มายา คือแม่ธรรมชาตินั่นเอง เป็นปรากฏการณ์ของโลก ที่มีขึ้นมีลง เป็นสิ่งตรงข้ามกับพระเจ้าผู้ไร้การเปลี่ยนแปลง “ในแผนการและนาฏการ (ลีลา) แห่งพระเจ้า หน้าที่เพียงอย่างเดียวของซาตานหรือมายา คือพยายามหันเหมนุษย์จากบรมวิญญาณไปสู่สสาร จากสิ่งจริงสู่สิ่งไม่จริง

    มายาจักรวาล ดู มายา

    เมานต์วอชิงตัน ที่ตั้ง และเป็นคำที่มักใช้เรียกศูนย์แม่ และสำนักงานใหญ่สากลของเซลฟ์รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ ที่เมืองลอสแอนเจลีส ท่านปรมหังสา โยคานันทะได้ที่ดินขนาด 12 ½ เอเคอร์ผืนนี้มาเมื่อปี ค.ศ. 1925 ท่านได้จัดตั้งศูนย์ฝึกนักบวชของเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น และเป็นศูนย์กลางการบริหารจัดการ ที่ทำหน้าที่เผยแพร่ศาสตร์กริยาโยคะอันเก่าแก่ไปทั่วโลก

    ยุค วัฏจักรแห่งสิ่งสร้างประมวลไว้ในคัมภีร์ฮินดูโบราณ สวามีศรียุกเตศวรได้คำนวณและอธิบายไว้ใน The Holy Science ว่าวัฏจักรของโลกเราในยุคปัจจุบันมีอายุ 24,000 ปี ซึ่งยาวนานกว่าที่ฤๅษีในยุคก่อนๆ ได้คำนวณไว้ในคัมภีร์โบราณเล่มอื่นๆ อ่านราย ละเอียดใน อัตชีวประวัติ ของโยคี บทที่ 16

    โยคะ จากคำสันสกฤต ยุช “รวมเป็นหนึ่ง” นัยประหวัดสูงสุดของคำ โยคะ ในปรัชญาฮินดู คือการที่ปัจเจกวิญญาณรวมกับบรมวิญญาณด้วยศาสตร์แห่งสมาธิ แต่ปรัชญาฮินดูในมิติที่กว้างออกไปนั้น โยคะเป็นหนึ่งในปรัชญาหกระบบของอินเดีย: เวทานตะ มีมางสา สางขยะ ไวเศษิกะนยานะ และ โยคะ ในส่วนของโยคะนั้นก็มีวิธีปฏิบัติหลายแบบ หฐโยคะ มันตรโยคะ ลยโยคะกรรมโยคะ ธยานโยคะ ภักติโยคะ และ ราชโยคะ เซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ ได้สอน ราชโยคะ อันเป็นโยคะสมบูรณ์ที่สุด และเป็นสิ่งที่ภควานกฤษณะทรงเปิดเผยแก่อรชุนศิษย์ของพระองค์ใน ภควัทคีตา ว่า “โยคีเป็นยิ่งกว่านักบวชที่ควบคุมกายได้ ประเสริฐกว่าผู้เดินไปบนวิถีแห่งปัญญา หรือวิถีแห่งการกระทำ อรชุนเอย เจ้าจงเป็นโยคีเถิด!” (ภควัทคีตา บทที่ 6:46) ท่านปตัญชลีบรมครูแห่งโยคะได้ระบุแปดขั้นตอนที่ ราชโยคี เข้าถึงสมาธิ หรือการรวมกับพระเจ้าไว้ดังนี้ 1) ยมะ การประพฤติศีลธรรม 2) นิยมะ การปฏิบัติตามหลักศาสนา 3) อาสนะ ท่ากายที่ถูกต้องกับการควบคุมจิต 4) ปราณายามะ การควบคุมปราณหรือพลังชีวิต 5) ปรัตยาหาร การน้อมนำจิตสู่ภายใน 6) ธารณะ การสำรวมจิต 7 ) ญาณ (ธยาน) 8) สมาธิ ประสบการณ์อภิจิต การรวมเป็นหนึ่งกับพระเจ้า

    โยคี ผู้ปฏิบัติโยคะ ผู้ปฏิบัติวิธีเพื่อการหยั่งรู้พระเจ้าคือโยคี ซึ่งอาจเป็นโสดหรือมีครอบครัวเป็นผู้มีภาระรับผิดชอบทางโลก หรือผู้อุทิศตนที่ปฏิญาณเพื่อการศาสนาก็ได้

    ร-ส

    ราชรษิ ชนกนันทะ (James J. Lynn) ศิษย์เอกของท่านปรมหังสา โยคานันทะ ผู้ดำรงตำแหน่งประธาน เซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ/โยโคทะสัตสังคะ แห่งอินเดีย คนแรกต่อจากท่านปรมหังสาจี มาจนถึง 20 กุมภาพันธ์ 1955 เมื่อท่านถึงแก่กรรม มร.ลินน์ รับกริยาโยคะ จากท่านปรมหังสาจีเมื่อปี 1932 มิติธรรมของท่านก้าวไกลอย่างเร็วไว ท่านคุรุเทพขนานนามท่านว่า “นักบุญลินน์” มาจนท่านได้รับตำแหน่งนักบวช ราชรษิ ชนกนันทะ เมื่อปี 1951

    ราชโยคะ “ราช” หรือวิถีสูงสุดสู่การรวมกับพระเจ้า ซึ่งสอนสมาธิศาสตร์อันเลิศล้ำเพื่อการหยั่งรู้พระเจ้า โดยได้รวมสาระสำคัญสูงสุดของโยคะรูปแบบอื่นๆ ไว้ด้วย ราชโยคะซึ่งสอนโดย เซลฟ์รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ ได้วางแนวทางชีวิตที่จะเผยถึงความสมบูรณ์ของร่างกาย จิตใจและวิญญาณ บนฐานของ กริยาโยคสมาธิ ดู โยคะ

    ฤๅษี ผู้เห็น ผู้ประเสริฐ แสดงถึงทิพยปัญญา โดยเฉพาะมุนีผู้รู้แจ้งแห่งอินเดียโบราณ ผู้รู้พระเวทด้วยสหัชญาณปัญญา

    ลมหายใจ ท่านปรมหังสา โยคานันทะ ได้เขียนไว้ว่า “กระแสจักรวาลมากมายที่ไหลเข้าไปในกายมนุษย์ด้วยการหายใจเข้าทำให้จิตไม่สงบ เพราะลมหายใจเชื่อมโยงเขาไว้กับปรากฏการณ์ทางโลกที่ไม่เที่ยงแท้ โยคีจึงฝึกการทำสมาธิ ทำให้ลมหายใจสงบด้วยวิธีปฏิบัติสมาธิที่เป็นวิทยาศาสตร์”

    ลาหิริ มหัสยะ ลาหิริ เป็นชื่อสกุลของ ศยาม จรัญ ลาหิริ (1828-1895) มหัสยะ เป็นตำแหน่งทางศาสนาในภาษาสันสกฤต แปลว่า “ใจใหญ่” ลาหิริ มหัสยะ เป็นศิษย์ของมหาวตารบาบาจี และเป็นคุรุของสวามีศรียุกเตศวร (คุรุของปรมหังสา โยคานันทะ) ลาหิริมหัสยะ เป็นบุคคลที่ บาบาจีได้เปิดเผย กริยาโยคะ ศาสตร์โบราณที่แทบจะสูญหายให้แก่ท่านในฐานะ โยคาวตาร (“องค์อวตารแห่งโยคะ”) ท่านเป็นบุคคลสำคัญในการฟื้นฟูโยคะกลับมาสู่อินเดียยุคใหม่ ท่านได้สอนและประสาทพรแก่ผู้แสวงธรรมจากทุกชั้นวรรณะและทุกความเชื่อที่มาสู่ท่านอย่างนับไม่ถ้วน ท่านเป็นคุรุผู้มีคริสตลักษณะ มีพลังอำนาจอย่างน่าอัศจรรย์ พร้อมๆ กันนั้นท่านได้ทำหน้าที่หัวหน้าครอบครัว มีภารกิจที่ต้องรับผิดชอบ ท่านจึงเป็นตัวอย่างแสดงให้โลกสมัยใหม่ได้เห็นว่า ชีวิตที่มีดุลยภาพอย่างดีนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ ด้วยการประสานการทำสมาธิกับการทำหน้าที่ทางโลกอย่างถูกต้อง ประวัติชีวิตของท่านลาหิริ มหัสยะอย่างละเอียด อ่านได้ใน อัตชีวประวัติของโยคี

    โลกเหตุ เบื้องหลังโลกกายภาพแห่งสสาร (อะตอม โปรตอน อิเล็กตรอน) และโลกละเอียดแห่งแสงพลังทิพย์ (ประจุพลังชีพ) คือ โลกเหตุ หรือ โลกดำริ โลกแห่งการคิด (ประจุความคิด) เมื่อมนุษย์วิวัฒน์ข้ามไปพ้นจักรวาลสสารและจักรวาลทิพย์ เขาจะพำนักอยู่ในจักรวาลเหตุในจิตแห่งกายเหตุนั้น จักรวาลสสารและจักรวาลทิพย์จะสลายกลับสู่แก่นการคิดสิ่งที่มนุษย์กายหยาบกระทำในจินตนาการ มนุษย์กายเหตุสามารถกระทำสิ่งนั้นได้จริง—ข้อจำกัดเพียงอย่างเดียวที่ทำให้แตกต่าง คือการคิดนั่นเอง แต่สุดท้ายแล้วมนุษย์จะละไปจากเครื่องหุ้มวิญญาณขั้นสุดท้าย—กายเหตุ—ไปรวมกับบรมวิญญาณอันสถิตทั่วในแดนที่พ้นแล้วจากการสั่นสะเทือน

    วรรณะ ตามแนวคิดดั้งเดิมนั้นวรรณะไม่ได้เป็นสถานะที่ตกทอดจากบรรพบุรุษ แต่เป็นการจำแนกมนุษย์ตามศักยภาพของตน ในการวิวัฒน์นั้นมนุษย์ผ่านสี่ระดับที่สำคัญ ซึ่งปราชญ์ฮินดูโบราณได้จำแนกเป็น ศูทร ไวษยะ กษัตริย์ และ พราหมณ์ ศูทรสนใจแต่ที่จะสนองกิเลสความต้องการฝ่ายกาย การพัฒนาแรงกายจึงเป็นการงานที่เหมาะแก่เขา ไวษยะ ใฝ่ใจในทางโลกและการสนองความรู้สึกตามประสาทสัมผัส มีศักยภาพที่จะสร้างสรรค์มากกว่าศูทร เขาจึงเหมาะที่จะเป็นเกษตรกร พ่อค้า ศิลปิน หรือการงานใดที่ให้ความพอใจแก่เขา กษัตริย์ ได้ผ่านการเกิดตายในฐานะศูทรและไวษยะมาแล้วหลายภพชาติ จึงเริ่มแสวงหาความหมายแห่งชีวิตพยายามเอาชนะนิสัยเลวเพื่อควบคุมสิ่งกระตุ้นทางประสาทสัมผัส กระทำสิ่งที่ถูกต้อง โดยอาชีพกษัตริย์จึงเป็นผู้ปกครอง รัฐบุรุษ และนักรบที่มีธรรม ส่วนพราหมณ์นั้นเอาชนะธรรมชาติฝ่ายต่ำได้พรั่งพร้อมด้วยคุณลักษณะแสวงธรรม เป็นผู้รู้พระเจ้า จึงสามารถสอนและช่วยผู้อื่นให้หลุดพ้นได้

    วารสารเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น วารสารรายสามเดือนจัดพิมพ์โดยเซลฟ์รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพนำเสนอบทสนทนาและข้อเขียนของท่านปรมหังสา โยคานันทะ รวมทั้งบทความว่าด้วยมิติธรรม การปฏิบัติ และข้อมูลปัจจุบันที่มีคุณค่าน่าสนใจอย่างยั่งยืน

    วิญญาณ ปัจเจกวิญญาณแห่งบรมวิญญาณ วิญญาณเป็นธรรมชาติอมตะแท้จริงของมนุษย์และชีวิตทั้งหลาย ธรรมชาตินี้ถูกห่อหุ้มไว้ชั่วคราวด้วยอาภรณ์กายเหตุ กายทิพย์ และกายหยาบธรรมชาติของวิญญาณ คือบรมวิญญาณอันดำรงนิรันดร์ รู้นิรันดร์ และปีติสดใหม่นิรันดร์

    วิธีการจดจ่อจิต วิธีการจดจ่อจิตของเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ (วิธีปฏิบัติฮอง-ซอ) สอนในบทเรียนเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ วิธีนี้ช่วยได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ในการถอนความสนใจจากสิ่งต่างๆ หรือสิ่งใดๆ ที่มาดึงความสนใจของเรา และนำความสนใจนั้นไปยังสิ่งเดียวในเวลานั้นๆ ดังนั้นมันเป็นสิ่งที่มีคุณค่ายิ่งสำหรับการทำสมาธิ การจดจ่อจิตที่พระเจ้า วิธีปฏิบัติฮอง-ซอ เป็นส่วนหนึ่งของศาสตร์แห่งกริยาโยคะ

    วิธีปฏิบัติสมาธิ หมายถึงวิธีปฏิบัติสมาธิของเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ (รวมทั้งวิธีปฏิบัติฮอง-ซอ) ที่สอนใน บทเรียนของเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ วิธีที่เป็นวิทยาศาสตร์นี้จะช่วยให้ผู้ปฏิบัติสามารถดึงจิตออกจากสิ่งที่ทำให้จิตแส่ส่าย แล้วไปจดจ่ออยู่ที่สิ่งเดียวในขณะใดขณะหนึ่ง ฉะนั้น สิ่งที่มีค่าอันประมาณมิได้สำหรับการทำสมาธิ ก็คือการมีจิตจดจ่ออยู่ที่พระผู้เป็นเจ้า วิธีปฏิบัติ ฮอง-ซอ คือส่วนหนึ่งของกริยาโยคะ (ดู กริยาโยคะ)

    เวทานตะ แปลตรงตัวคือ “ที่สุดของพระเวท”; ปรัชญาที่แตกหน่อจากคัมภีร์อุปนิษัท อันเป็นตอนท้ายๆ ของพระเวท สวามีศังกราจารย์ (ศตวรรษที่แปด หรือ ต้นศตวรรษที่เก้า) ผู้เชี่ยวชาญเวทานตะได้ประกาศว่า พระเจ้าคือสิ่งจริงเพียงหนึ่งเดียว และสิ่งสร้างทั้งหลายล้วนเป็นมายา ในเมื่อมนุษย์เป็นสิ่งสร้างเดียวที่สามารถรู้พระเจ้าได้ มนุษย์ผู้มีทิพยภาวะจึงมีหน้าที่ต้องหยั่งรู้ธรรมชาติที่แท้นี้

    ศาสนาฮินดู ดูที่ สนาตนธรรม

    ศรี เป็นคำยกย่อง ใช้นำหน้านามของผู้มีธรรม คำนี้แปลว่า “ศักดิ์สิทธิ์” หรือ “น่าเลื่อมใส”

    ศรียุกเตศวร, สวามี สวามีศรียุกเตศวรคีรี (1855-1936) ญาณาวตาร “องค์อวตารแห่งปัญญา” ชาวอินเดีย เป็นคุรุของปรมหังสา โยคานันทะ บรมครูผู้ปฏิบัติ กริยาโยคะ แห่งเซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ ศรียุกเตศวร เป็นศิษย์ของลาหิริ มหัสยะ และด้วยโองการของท่านมหาวตารบาบาจี คุรุของลาหิริ มหัสยะ ศรียุกเตศวรได้เขียนคัมภีร์ The Holy Science อธิบายความเป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างพระคริสตธรรมคัมภีร์กับคัมภีร์ฮินดู ท่านได้อบรมฝึกฝนปรมหังสา โยคานันทะ เพื่อดำเนินพันธกิจในการเผยแผ่ กริยาโยคะ ไปทั่วโลก ปรมหังสาได้เขียนถึงประวัติชีวิตของท่านสวามีศรียุกเตศวรไว้ด้วยความรักเคารพในหนังสือ อัตชีวประวัติของโยคี

    ศังกราจารย์, สวามี บางครั้งเรียกนามท่านว่า อาทิ (“ปฐม, ท่านแรก”) ศังกราจารย์ (ศังกรา+ อาจารย์ “ครู”) นักปราชญ์ผู้ปราดเปรื่องแห่งอินเดีย ท่านมีชีวิตอยู่ในยุคสมัยใดไม่อาจระบุได้ชัด แต่ผู้รู้หลายท่านกำหนดว่าท่านมีชีวิตอยู่ในช่วงศตวรรษที่แปด หรือ ต้นศตวรรษที่เก้า ท่านศังกราจารย์ อธิบายว่าพระเจ้าไม่ใช่สิ่งที่จะคาดคะเนในเชิงลบ แต่เป็นบวก เป็นความปีติใหม่เสมอ สถิตทั่วนิรันดร์ ท่านได้จัดระเบียบนิกายสวามีโบราณเสียใหม่ ก่อตั้ง มัฐ (ศูนย์การศึกษาของนักบวช) ถึงสี่แห่ง และผู้นำ มัฐ เหล่านี้มีตำแหน่ง ชคัทคุรุ ศรีศังกราจารย์ ความหมายของ ชคัทคุรุ คือ “ครูของโลก”

    สนาตนธรรม แปลตรงตัวว่า “ศาสนานิรันดร์” เป็นนามเรียกคำสอนในพระเวท ซึ่งต่อมาได้นามว่า ศาสนาฮินดู เมื่อชาวกรีกเรียกผู้คนบนฝั่งแม่น้ำสินธุว่า อินดู หรือ ฮินดู ดู ธรรม

    สมาคมโยโคทะสัตสังคะ แห่งอินเดีย สมาคมซึ่งก่อตั้งโดยปรมหังสา โยคานันทะ ในอินเดีย ปรมหังสา โยคานันทะก่อตั้งสมาคมนี้เมื่อ ค.ศ. 1917 สำนักงานใหญ่หรือโยโคทะมัฐ ตั้งอยู่ที่เมืองทักษิเณศวร บนฝั่งแม่น้ำคงคา ใกล้ๆ นครกัลกัตตา สมาคมโยโคทะสัตสังคะ มีสาขาสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองรานจี รัฐฌาร์ขันท์ และศูนย์สาขาอีกหลายแห่ง นอกจากศูนย์ปฏิบัติสมาธิซึ่งมีอยู่ทั่วอินเดียแล้วยังมีสถาบันการศึกษาตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงวิทยาลัยรวมสิบเจ็ดแห่ง โยโคทะ เป็นคำที่ปรมหังสา โยคานันทะตั้งขึ้นจากคำว่า โยคะ “การรวมเป็นหนึ่งความกลมกลืน ความสมดุล” กับ ทะ “สิ่งที่ให้” “สัตสังคะ” ประกอบด้วย สัต ความจริง กับสังคะชุมชน ศรีโยคานันทะได้แปลนามนี้เป็น “Self-Realization Fellowship” (เซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ) สำหรับชาวตะวันตก

    สมาธิ เป็นขั้นตอนสูงสุดในวิถีโยคะมีองค์แปดตามที่ท่านปตัญชลีได้วางแนวทางไว้ สมาธิเข้าถึงได้เมื่อผู้ปฏิบัติกระบวนการทำสมาธิ (การถอนจิตจากประสาทสัมผัสโดยการเข้าถึงภายใน) และเป้าหมายในการทำสมาธิ (พระเจ้า) เป็นหนึ่งเดียวกัน ท่านปรมหังสา โยคานันทะ ได้อธิบายไว้ว่า “ขั้นแรกเมื่อรวมกับพระเจ้า (สาวิกัลปสมาธิ) จิตของผู้แสวงหาพระเจ้าจะรวมกับบรมวิญญาณ พลังชีวิตของเขาถูกถอนจากกายที่เสมือน ‘ตาย’ หรือแข็งทื่อ ไร้การเคลื่อนไหว โยคีรู้สภาพกายที่ไร้การเคลื่อนไหวนี้อย่างเต็มที่ และเมื่อท่านก้าวเข้าสู่ภาวะที่สูงขึ้นไป (นิรวิกัลปสมาธิ) ท่านรวมกับพระเจ้าทั้งในภาวะกายที่ยังนิ่งอยู่เช่นนั้น หรือเมื่อจิตตื่นอยู่ตามปกติขณะทำหน้าที่ทางโลก” อาการของสภาวะทั้งสอง คือความเป็นหนึ่งเดียวกับความปีติใหม่เสมอแห่งบรมวิญญาณ แต่ นิรวิกัลปสมาธิ นั้นเข้าถึงได้ก็แต่อาจารย์ผู้ก้าวหน้าอย่างยิ่งแล้วเท่านั้น

    สวามี นักบวชในนิกายหนึ่งของอินเดียโบราณซึ่งสวามีศังกราจารย์ (ดู สวามีศังกราจารย์) ได้จัดระเบียบใหม่ในศตวรรษที่เก้า สวามีในนิกายนี้ต้องปฏิญาณถือพรหมจรรย์ละจากโลกโลกีย์อุทิศตนปฏิบัติสมาธิ บำเพ็ญกิจทางวิถีธรรม และรับใช้มนุษยชาติ นิกายสวามีได้แยกย่อยออกไปเป็นสิบสาย คือ คีรี ปูรี ภรตี ตีรถะ สรัสวตี และ อื่นๆ สวามีศรียุกเตศวร (ดู สวามีศรียุกเตศวร) และ ปรมหังสา โยคานันทะ สังกัดสาย คีรี (“ภูเขา”) สวามี ในภาษาสันสกฤต แปลว่า “ผู้เป็นหนึ่งเดียวกับอาตมัน (สว)”

    สหัชญาณ (“ปัญญาหยั่งรู้”) วิญญาณรู้แจ้ง ทำให้บุคคลเห็นตรงถึงสัจจะ โดยไม่ต้องผ่านกายสัมผัส

    สัต-จิต-อานันทะ คำสันสกฤตหมายถึงพระเจ้าผู้สำแดงคุณลักษณ์แห่งบรมวิญญาณในฐานะชีวิต หรือความจริงนิรันดร์ (สัต) จิตไพศาล (จิต) และ ความปีตินิรันดร์ (อานันทะ)

    สัต-ตัต-โอม สัต, ความจริง ความสัมบูรณ์ ทิพยปีติ; ตัต สกลปัญญา หรือ จิต; โอม พลังสั่นสะเทือนรังสรรค์จักรวาลอันกอปรด้วยปัญญา สัญลักษณ์พระวจนะแห่งพระเจ้า ดูที่ โอม, ตรีเอกานุภาพ

    สาธนา วิถีการปฏิบัติทางมิติธรรม ที่คุรุให้คำสั่งสอนและวิธีปฏิบัติสมาธิแก่ศิษย์ เมื่อศิษย์ปฏิบัติตามอย่างซื่อสัตย์ภักดี เขาจะหยั่งรู้พระเจ้าในที่สุด

    สิทธา แปลตรงตัว “ผู้สำเร็จ” ผู้เข้าถึงการตระหนักรู้ในตน

    เสียงจักรวาล ดู โอม

    อภิจิต อำนาจการรู้รอบของวิญญาณที่เห็นสัจจะโดยตรง; สหัชญาณ ปัญญาหยั่งรู้

    อภิจิตสำนึก จิตวิญญาณอันบริสุทธิ์ ปีติ รู้แจ้ง บางครั้งใช้เรียกรวมๆ หมายถึงลำดับต่างๆ ของเข้าถึงสภาวะที่ได้รับใน สมาธิ โดยเฉพาะลำดับแรกของสมาธิ เมื่อบุคคลละการยึดอัตตาและหยั่งรู้ว่าตนคือวิญญาณถูกสร้างตามพระฉายาของพระเจ้า จากนั้นตามมาด้วยภาวะที่สูงขึ้นไป นั่นคือคริสตจิตและจิตจักรวาล

    อรชุน หนึ่งในเจ้าชายปาณฑพห้าพี่น้อง ตัวละครหลักในมหากาพย์ มหาภารตะ ของอินเดียเป็นศิษย์เอกที่ภควานกฤษณะได้ประทานสารอมตะแห่งภควัทคีตาให้

    อวตาร จากรากศัพท์สันสกฤต อว “ลงมา” กับ ตริ “ผ่าน” หมายถึงวิญญาณที่รวมเป็นหนึ่งกับบรมวิญญาณแล้ว แต่กลับมาสู่โลกเพื่อช่วยมนุษยชาติ วิญญาณเช่นนี้เรียกว่า อวตาร หรือการเกิดใหม่ของพระเจ้า

    อวิชชา แปลตรงตัวว่า “ไม่รู้” ความโง่; มายาที่สำแดงในมนุษย์, มายาจักรวาล แต่ในความหมายแท้จริงนั้น อวิชชา หมายถึง การที่มนุษย์ไม่รู้ทิพยธรรมชาติของตน ไม่รู้บรมวิญญาณซึ่งเป็นสิ่งจริงแท้เพียงหนึ่งเดียว

    อหังการ ยึดอัตตา อหังการ เป็นคำภาษาสันสกฤต (แปลตามตัว “ฉันทำ”) เป็นรากเหง้าของสิ่งคู่ หรือการแบ่งแยกมนุษย์ไปจากสิ่งสร้าง อหังการทำให้มนุษย์ตกอยู่ใต้อำนาจของมายา (ดู มายา) ที่ทำให้ผู้มีอหังการเชื่อตัวตนของตนอย่างผิดๆ คิดว่าตนคือผู้สร้าง เมื่อขจัดอหังการเสียได้ มนุษย์จะตื่นกลับสู่ทิพยภาวะ เป็นหนึ่งเดียวกับเอกชีวิต นั่นคือ พระเจ้า เอกองค์ผู้ทรงกระทำ

    อาจารย์ ผู้มีตบะควบคุมตนเองได้ และเป็นคำเรียกครูด้วยความเคารพ ท่านปรมหังสา โยคานันทะ ได้กล่าวไว้ว่า “คุณสมบัติเด่นของอาจารย์ ไม่ใช่รูปกาย แต่เป็นมิติวิญญาณ...สิ่งที่จะพิสูจน์ได้ว่าผู้ใดคืออาจารย์ คือแค่ตั้งใจก็สามารถเข้าสู่ภาวะไร้ลมหายใจได้ (สาวิกัลปสมาธิ) และการเข้าถึงความปีติอย่างไม่เสื่อมคลาย (นิรวิกัลปสมาธิ)” ดู สมาธิ

    อาตมัน Self— อาตมัน หรือ วิญญาณ ซึ่งต่างจากตัวตนธรรมดา ซึ่งเป็นบุคคลิกส่วนตัวหรือ อัตตาของมนุษย์ อาตมันหมายถึงปัจเจกบรมวิญญาณ ผู้มีทิพยธรรมชาตินิรันดร์ รู้นิรันดร์ ปีติสุขใหม่เสมอนิรันดร์ ทิพยประสบการณ์เหล่านี้ เป็นคุณสมบัติโดยธรรมชาติของวิญญาณ และเกิดขึ้นได้โดยการทำสมาธิ

    อาศรม อาราม หรือ ที่พำนักของผู้ปฏิบัติธรรม

    อีเธอร์ (อากาศธาตุ) อีเธอร์ ในภาษาสันสกฤตคือ อากาศ แม้ในทฤษฎีวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ว่าด้วยธรรมชาติของจักรวาลวัตถุ จะไม่นับว่าอีเธอร์เป็นปัจจัยหนึ่งแต่ปราชญ์อินเดียได้ให้ความสำคัญกับอีเธอร์ หรืออากาศธาตุนี้มานานนับพันปีแล้ว ท่านปรมหังสา โยคานนันทะกล่าวว่า อากาศธาตุเป็นฉากให้พระผู้เป็นเจ้าทรงฉายภาพเคลื่อนไหวของบรรดาสิ่งสร้าง อากาศธาตุทำให้สิ่งต่างๆ มีมิติ อากาศธาตุเป็นตัวแยกภาพที่เราเห็นออกจากกัน “ฉาก” นี้เป็นพลังละเอียดที่ประสานพลังสั่นสะเทือนที่เป็นพื้นที่ว่างเข้าด้วยกัน และเป็นปัจจัยสำคัญเวลาที่เราคิดถึงพลังละเอียดบางอย่าง—เช่นความคิดและพลังชีวิต (ปราณ)—และเป็นธรรมชาติของพื้นที่ว่าง และเป็นที่มาของพลังวัตถุและสสารทั้งหลาย ดู ธาตุ

    อุปนิษัท อุปนิษัท หรือ เวทานตะ (แปลตรงตัว “ที่สุดของพระเวท”) เป็นส่วนหนึ่งของพระเวททั้งสี่ ที่สรุปสาระสำคัญของหลักคำสอนแห่งศาสนาฮินดู

    โอม รากคำ หรือ รากเสียงสันสกฤต หมายถึง พระเจ้าผู้สร้างและธำรงสรรพสิ่ง หรือหมายถึงพลังสั่นสะเทือนแห่งจักรวาล โอม ในพระเวทกลายเป็นคำศักดิ์สิทธิ์ หุม ในภาษาทิเบต อามินสำหรับชาวมุสลิม และ อาเมน สำหรับชาวอียิปต์ ชาวกรีก โรมัน ยิว และชาวคริสต์ ศาสนาใหญ่ๆ ในโลกล้วนกล่าวตรงกันว่า สิ่งสร้างทั้งหลายเกิดจากพลังสั่นสะเทือนของ โอม หรืออาเมน พระวจนะ หรือ พระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ “ในปฐมกาล พระวาทะทรงดำรงอยู่ และพระวาทะทรงอยู่กับพระเจ้า...พระเจ้าทรงสร้างสรรพสิ่งขึ้นมาโดยพระวาทะ ในบรรดาสิ่งที่เป็นอยู่นั้นไม่มีสักสิ่งเดียวที่เป็นอยู่นอกเหนือพระวาทะ” (ยอห์น 1:1,3)

    อาเมน ในภาษาฮีบรู แปลว่า แน่นอน ศรัทธา “พระองค์ผู้เป็นพระอาเมนทรงเป็นพยานที่ซื่อสัตย์และสัตย์จริง และทรงเป็นต้นกำเนิดของสิ่งสารพัดที่พระเจ้าทรงสร้างนั้น” (วิวรณ์3:14) เช่นเดียวกับเสียงที่เกิดจากพลังสั่นสะเทือนของเครื่องจักร เสียง โอม เป็นพยานยืนยันการทำงานของพลังสั่นสะเทือนของ “เครื่องจักรจักรวาล” ที่ธำรงชีวิตทั้งปวงและทุกอณูสารในสิ่งสร้าง ท่านปรมหังสา โยคานันทะได้สอนวิธีการทำสมาธิเพื่อการมีประสบการณ์ตรงกับพระเจ้าในฐานะ โอม หรือพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ ไว้ในบทเรียน เซลฟ์ รีอะไลเซชั่น เฟลโลว์ชิพ การรวมกับพลังทิพย์อันปีติที่ตามองไม่เห็น (“พระผู้ช่วย หรือ พระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์” —ยอห์น14:26) ที่ไม่อาจเห็นด้วยตานี้ เป็นรากฐานแท้จริงของศาสตร์การอธิษฐาน

    Pronunciation Guide